“ก๊าซในทางเดินอาหาร”
สัญญาณเตือนโรคร้าย!!!
ถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนต้อง “เรอ-ผายลม” แต่คงไม่พึงประสงค์นักหากผิดที่ผิดทาง สิ่งเหล่านี้เกิดจากการมีก๊าซในทางเดินอาหาร ซึ่งร่างกายต้องขับออกมาอยู่เป็นประจำ แต่หากมีมากเกินไปจะทำให้เกิดการจุกเสียดแน่นท้องรวมทั้งอาการอื่นๆ ตามมา ยิ่งในภาวะปัจจุบันสังคมขับเคลื่อนให้คนทำงานแข่งกับเวลามากขึ้น จำต้องรับประทานอาหารจานด่วนเกือบทุกวันเพื่อย่นระยะเวลาการไปถึงที่ทำงาน ให้เร็วขึ้น หรือบางคนรีบร้อนจนไม่ทันเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เมื่อวงจรชีวิตเร็วขึ้นๆ ขณะที่ระบบของร่างกายยังทำงานในจังหวะจะโคนดังเดิม โรคต่างๆ ก็ตามมา
โรคก๊าซในทางเดินอาหาร หลายคนอาจไม่ให้ความสนใจนักเพราะไม่มีผลร้ายแรงต่อร่างกาย แต่อาจบ่งชี้ว่า คุณกำลังประสบกับภาวะโรคร้ายอยู่ !!
นพ.สว่างพงษ์ พูลทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โรคทางเดินอาหารและตับ ศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ แนะนำว่า ก๊าซในทางเดินอาหารนับวันยิ่งเป็นปัญหาทำให้มีผู้ที่ทนทุกข์ทรมานจากอาการเหล่านี้มากขึ้น อาจเนื่องจากระบบการใช้ชีวิตของมนุษย์มีความรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้บริโภคอาหารที่ก่อให้เกิดก๊าซมากขึ้นไปด้วย
ก๊าซในทางเดินอาหารเกิดจากปัจจัยแรกคือ กลืนอากาศเข้าไป ส่วนใหญ่เป็นก๊าซไนโตรเจนและก๊าซออกซิเจน คนส่วนใหญ่มักนึกไม่ถึงว่าโดยปกติเราจะกลืนก๊าซทุกๆ ครั้งที่กลืนน้ำหรืออาหารเฉลี่ยประมาณ 2.6 ลิตรต่อน้ำ 1.5 ลิตรต่อวัน และอาจมากกว่านี้ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติซึ่งกลืนก๊าซโดยไม่รู้ตัว โดยก๊าซที่กลืนมักถูกขับออกด้วยการเรอและส่วนน้อยถูกขับออกด้วยการผายลม อย่างน้อยประมาณ 0.5 ลิตรต่อวัน
ปัจจัยที่สอง เกิดจากการสร้างก๊าซขึ้นมาของร่างกายส่วนใหญ่ โดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จะย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลที่ย่อยยากบางชนิด และจากปฏิกิริยาของสารในร่างกาย กลุ่มนี้จะเป็นประเภทก๊าซไฮโดรเจน, คาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน ตลอดจนก๊าซอย่างอื่นอีกเล็กน้อยอันจะทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์
“คนเราผายลมเฉลี่ย 10-20 ครั้งต่อวัน ในปริมาณก๊าซที่ถูกขับออกมาถึง 0.5- 1.5 ลิตรต่อวัน โดยไม่ขึ้นอยู่กับอายุหรือเพศ”
คนไข้มักมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด เรอบ่อย ผายลมบ่อยกว่าปกติหรือเห็นผิดปกติ โดยอาการเหล่านี้ผู้ป่วยเองรับรู้ว่าเกิดก๊าซในทางเดินอาหารมากกว่าปกติ ขณะเดียวกันแพทย์ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีอาการเหล่านี้บ่อยๆ หรือนานๆ บ่งชี้ได้ถึงคนไข้อาจเป็นโรคร้ายแรงอยู่เดิมแล้ว อันจะกระตุ้นให้เกิดก๊าซในทางเดินอาหารมากกว่าปกติ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคกรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งในทางเดินอาหาร ฯลฯ ดังนั้นควรให้ความสำคัญโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมาก ตลอดจนคนที่ป่วยมานานและทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงคนไข้ที่มีอาการเตือนบางอย่าง เช่น น้ำหนักลดผิดปกติ โลหิตจาง ถ่ายอุจจาระท้องผูกหรือท้องเสียเป็นประจำ
การรับประทานอาหารบางประเภทเป็นอีกปัจจัยกระตุ้นให้เกิดก๊าซในทางเดินอาหาร ดังนั้นผู้ป่วยควรเลี่ยงอาหารประเภทนม ไอศครีม เนย โยเกิร์ต น้ำอัดลม น้ำผึ้งหรือของขบเคี้ยว เช่น ถั่วต้ม ถั่วเหลือง ลูกอม หมากฝรั่ง ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด มันฝรั่ง เมล็ดพืชอบแห้ง ตลอดจนกะหล่ำปลี บรอกโคลี เป็นต้น
ผู้มีภาวะเสี่ยงโรคนี้ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด หลีกเลี่ยงการพูดคุยในระหว่างกินอาหาร เพื่อไม่ให้อากาศเข้าสู่ทางเดินอาหารมากเกินไป และไม่ควรนอนหรือเอนตัวหลังรับประทานอาหาร ควรออกกำลังกายอยู่เสมอเพื่อช่วยให้ลำไส้ ทำงานได้ดีขึ้น
ส่วนการรักษาด้วยยาบางชนิดจะออกฤทธิ์โดยกระตุ้น การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนบน ซึ่งต้องระวังผลข้างเคียงในกรณีที่ใช้ยาติดต่อกันนาน ดังนั้นคนไข้ไม่ควรบริโภคอาหารที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวอาจมาจากสาเหตุอื่น เช่น ผู้ป่วยที่มีอายุมาก มีอาการมานานหรือแย่ลง รวมทั้งมีอาการเตือน เช่น โลหิตจาง น้ำหนักลดผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
เมื่อรู้เช่นนี้แล้วการรับประทานอาหารแต่ละมื้อ และการใช้ชีวิตประจำวันจึงควรเอาใจใส่ เพื่อจะได้ห่างไกลจากโรคร้าย มีชีวิตอยู่กับคนที่เรารักไปนานๆ
กินอย่างไรเมื่อต้องอดนอน???
ทุกคนคงทราบกันดีว่าการอดนอนหรือการนอนหลับไม่เพียงพอนั้น ถือเป็นพฤติกรรมหนึ่งที่มีผลลบต่อสุขภาพ แต่หากมีความจำเป็นต้องอดนอนก็ควรทราบวิธีดูแลตัวเองเพื่อช่วยชดเชยพลังงานที่สูญเสียไปให้ร่างกายได้กระปรี้กระเปร่าสดชื่นกับการเริ่มต้นทำงานในเช้า วันใหม่
จากการวิจัยล่าสุดพบว่า การนอนที่ดีควรใช้เวลาในการนอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แพทย์หญิงลลิตา ธีระสิริ แพทย์ธรรมชาติบำบัด ศูนย์ธรรมชาติบำบัดบัลวี ให้ความรู้ว่า สมองเราทำงานเหมือนคอมพิวเตอร์ ถ้าเรานอนหลับสมองจะลบเรื่องราวต่างๆ ในหัวทิ้ง เช่น ฝันถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ไร้สาระ พิสดารเกินจริง และถ้าเราเครียดมากๆ จะฝันประมาณว่ากำลังวิ่งหนีหรือเหนื่อยหอบ ดังนั้นเราจึงควรนอนหลับพักผ่อนสมอง เพื่อลบเรื่องราวต่างๆ ที่รกสมองทิ้งไป
โดยธรรมชาติแล้วฮอร์โมนในร่างกายถูกจัดระบบให้นอนหลับในเวลากลางคืนและตื่นในเวลากลางวัน เพราะในเวลากลางวันเมื่อมีแสงสว่าง ต่อมไพเนียลหรือต่อมเหนือสมอง จะหลั่งฮอร์โมนซีโรโตนินออกมาเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายดำเนินกิจกรรมช่วงกลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนซีโรโตนินจะลดระดับลงเพื่อให้ร่างกายพักผ่อน รวมทั้งต่อมไพเนียลจะหลั่งฮอร์โมน “เมลาโตนิน” ออกมาเพื่อให้ร่างกายง่วงนอนจนกระทั่งใกล้เช้าก็จะลดลงทำให้เราตื่นมาพอดี หากว่าเราอดนอนถือว่าเป็นการฝืนธรรมชาติอาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลและทำให้เจ็บป่วยได้อาการเจ็บป่วยจากการอดนอนที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำลง ได้แก่ เหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะและเวียนศีรษะ ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ เกิดอาการท้องผูก ความดันสูง-ต่ำ ซึมเศร้า ท้อแท้ และหากอดนอนสะสมมากๆ อาจทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติจนเกิดอาการประสาทหลอนได้
ดังนั้นถ้าเราจำเป็นต้องอดนอนและในคืนนั้นรู้สึกหิว หากเกินเวลาเที่ยงคืนไปแล้วไม่แนะนำให้ดื่มกาแฟ เพราะจะกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวนอนไม่หลับ วิงเวียนศีรษะ หรือดื่มนมวัว เพราะมีไขมันสูงย่อยยากใช้เวลาในการย่อย 3-4 ชั่วโมง จะเป็นการรบกวนกระเพาะอาหาร ทางที่ดีควรรับประทานอาหารที่อุ่นๆ ย่อยง่ายๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำข้าว หรือจะเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ทำให้หลับง่ายกว่า เช่น ข้าวเหนียวเปียกร้อนๆ หรือกล้วยนำไปอุ่นให้ร้อนๆ
ขณะเดียวกัน หากเราตื่นเช้ามาหลังจากการนอนดึกแล้วรู้สึกเพลีย ไม่สดชื่นให้ใช้วิธีอาบน้ำหรือแช่น้ำอุ่นจัดๆ ประมาณ 3 นาทีและอาบน้ำเย็นๆ อีก 2 นาทีสลับไปมา 3 รอบ จะทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉงขึ้นมากกว่าการดื่มกาแฟ 1 แก้วเสียอีก นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซีและบี เพราะการอดนอนจะทำให้ระดับฮอร์โมนจากต่อมไพเนียลปั่นป่วนทำให้เกิดความเครียดได้ จึงต้องรับประทานวิตามินคลายเครียด อาหารกลุ่มดังกล่าวก็ได้แก่ ข้าวกล้อง ผัก ผลไม้ โดยเฉพาะน้ำส้มคั้นสดๆ แต่ถ้าจะให้ดีควรรับประทานองุ่นแดงทั้งเปลือกและเมล็ด เพราะมีโอพีซี ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าวิตามินซี 20 เท่าและวิตามินอี 50 เท่า
หากรู้จักวิธีดูแลสุขภาพตัวเองในยามที่ต้องอดนอนแล้วอย่าลืมนำไปปฏิบัติเพื่อ เป็นการชดเชยสุขภาพที่เสียไป แต่ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็อย่าอดนอนกันดีกว่าเพราะเป็นการทำลายสุขภาพให้เสื่อมโทรมลงไม่เป็นผลดีกับเราแน่ๆ ที่สำคัญสุขภาพร่างกายไม่ได้หาอะไหล่เปลี่ยนง่ายๆ เหมือนเครื่องยนต์
~----------~----------~----------~----------~----------
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เนื้อหาข่าวคุณภาพดี โดย : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์